เหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2

เหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2

เหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2

 

เหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยได้เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อค.ศ. 1941 โดยรัฐบาลภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตกลงยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นใช้ประเทศไทยเป็นเส้นทางเดินทัพไปประเทศมาเลเซียและพม่า ต่อมารัฐบาลไทยได้ลงนามใน “กติกาสัญญาทางทหารระหว่างไทยกับญี่ปุ่น” และ “กติกาสัญญาพันธไมตรีระหว่างประเทศ”  อันนำไปสู่การที่ไทยประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 1942

 

หลังจากประกาศเป็นพันธมิตร กับญี่ปุ่นและประกาศสงครามกับอังกฤษ และสหรัฐอเมริกาแล้ว จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนแปลง ตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีโดยถอด นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งมีนโยบายคัดค้าน การเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการคลัง แล้วแต่งตั้งให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นหนึ่งในคณะผู้สำเร็จ ราชการแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากจุดนี้เองในเวลาต่อมา นายปรีดี พนมยงค์ ได้ก่อตั้งกลุ่มเสรีไทยในประเทศขึ้นเพื่อต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นและรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขณะเดียวกันได้มีกลุ่มข้าราชการและชนชั้นนำของไทยที่อยู่ในต่างประเทศและไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลไทยประกาศเข้าร่วมสงครามโลกโดยอยู่ฝ่ายญี่ปุ่น ดังนั้นหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช จึงได้ก่อตั้งกลุ่มเสรีไทยขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา และหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัฒน์ ได้ก่อตั้งกลุ่มเสรีไทยขึ้นในประเทศอังกฤษ ทั้งกลุ่มเสรีไทยในสหรัฐอเมริกาและในอังกฤษได้มีนักเรียนไทยเข้าร่วมด้วยเพื่อดำเนินการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทย

 

นอกจากกระแสต่อต้านจากขบวนการเสรีไทยทั้งภายในและภายนอกประเทศแล้ว จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังต้องเผชิญกับสถานการณ์การเมืองภายในประเทศที่กลุ่มผู้ใกล้ชิดของนายปรีดี พนมยงค์ ได้ร่วมมือกับกลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหัวก้าวหน้า เช่น นายเตียง ศิริขันธ์ นายถวิล อุดล นายจำลอง ดาวเรือง ฯลฯ เคลื่อนไหวต่อต้านจอมพล ป. พิบูลสงคราม  อีกทั้งนายปรีดี พนมยงค์ ยังสร้างเครือข่ายสนับสนุนจากกองทัพเรือ ฝ่ายตำรวจ และบางส่วนของกองทัพบก จนสามารถคัดค้านร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดจัดตั้งเมืองเพ็ชรบูรณ์เป็นเมืองหลวง ที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เสนอเพื่อพิจารณาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อรัฐบาลพ่ายแพ้ในการลงมติร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดฉบับนี้ ตามด้วยการพ่ายแพ้ในการลงมติพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดพุทธบุรีมณฑล ที่รัฐบาลเสนอขอตั้งเขตมณฑลทางพุทธศาสนา ดังนั้นในวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1944 (พ.ศ. 2487) จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์ ได้เสนอชื่อ นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วได้รับการสนับสนุนจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายควง อภัยวงศ์ จึงได้เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้น รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ได้ออกคำสั่งปลด จอมพล ป. พิบูลสงคราม ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด  การที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทำให้การดำเนินงานต่อต้านญี่ปุ่นของกลุ่มเสรีไทยดำเนินไปได้อย่างราบรื่นจนกระทั่งญี่ปุ่นแพ้สงคราม

 

น่าสนใจที่ว่าเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ประเทศไทยซึ่งประกาศเข้าร่วมกับญี่ปุ่นและประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา แต่ฝ่ายผู้นำไทยมีความพยายามที่จะทำให้ประเทศพ้นจากสถานะฝ่ายแพ้สงคราม เช่นเดียวกับญี่ปุ่น ดังที่นายปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวว่าเมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม ตน (นายปรีดี) ในฐานะหนึ่งในผู้สำเร็จราชการแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ใช้วิธีประกาศพระบรมราชโองการในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าการประกาศสงครามของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้ถือเป็นโมฆะ

 

โดยความพยายามของฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์ ที่จะให้การประกาศสงครามในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นโมฆะ ได้ดำเนินมาตั้งแต่ช่วงที่นายปรีดีและกลุ่มเสรีไทยเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และกองทัพญี่ปุ่น โดยนายปรีดีได้มอบหมายให้นายจำกัด พลางกูร เป็นผู้แทนของคณะเสรีไทยเดินทางไปติดต่อกับสัมพันธมิตร เพื่อแจ้งให้สัมพันธมิตรทราบว่ามีคณะเสรีไทยภายในประเทศและให้สัมพันธมิตรรับรองและช่วยเหลือคณะเสรีไทย

 

มหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรมีท่าทีที่แตกต่างกันต่อความพยายามของไทยในการทำให้การเข้าร่วมสงครามโลกกับฝ่ายอักษะของรัฐบาลสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นโมฆะ โดยอังกฤษกดดันให้ไทยชดใช้ค่าเสียหายสำหรับความสูญเสียทรัพย์สินของอังกฤษทั้งหมด การได้สิทธิพิเศษในการจัดตั้งฐานทัพของกองกำลังอังกฤษในประเทศไทยอย่างไม่มีกำหนดและได้ข้าวฟรีจากไทยจำนวน 1.5 ล้านตัน ส่วนฝรั่งเศสนั้นประเทศไทยต้องคืนดินแดนไซยะบุรีและจำปาสักในลาว ดินแดนเสียมราฐและพระตะบอง ที่ญี่ปุ่นคืนกลับมาให้ไทยกลับคืนไปให้ฝรั่งเศสอีกครั้งเพื่อแลกกับคำมั่นสัญญาของฝรั่งเศสที่จะไม่ลงคะแนนยับยั้งการขอเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติของไทย ขณะที่สหรัฐอเมริกาไม่ให้ความสำคัญกับการที่ไทยเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นและประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเห็นว่า การประกาศสงครามของไทยมีลักษณะหลายอย่างที่ไม่ถูกต้องคือ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทุกคนไม่ได้ลงนามในคำประกาศสงคราม เพราะนายปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้ลงนาม เนื่องจากไม่ได้อยู่ปฏิบัติราชการ อีกทั้งสหรัฐอเมริกายังช่วยกดดันอังกฤษทำให้ข้อเรียกร้องของอังกฤษเหลือเพียงให้รัฐบาลไทยขายข้าวให้อังกฤษ

 

สาเหตุที่ไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง 

 

เหตุเพราะเรามีกำลังน้อยเมื่อญี่ปุ่นบุกจึงไม่สามารถต่อต้านได้ และเพื่อป้องกันมิให้ตกอยู่ใต้อิทธิพลของญี่ปุ่นในด้านเศรษฐกิจและการเมือง 

 

ผลของสงครามต่อไทย คือ

 

1.ไทยต้องส่งทหารไปช่วยญี่ปุ่นรบ

2.ได้ดินแดนเชียงตุง และสี่จังหวัดภาคใต้ที่ต้องเสียแก่อังกฤษกลับมา แต่ต้องคืนให้เจ้าของเมื่อสงครามสงบลง

 3.เกิดขบวนการเสรีไทย ซึ่งให้พ้นจากการยึดครอง

 4.ไทยได้รับเกียรติเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ

 

สำหรับประเทศไทยนั้น เราได้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นเพียงประเทศเดียวในทวีปเอเชียและแปซิฟิกไม่นับรวมญี่ปุ่น ที่เข้าร่วมกับพวกอักษะ สาเหตุการเข้าร่วมนั้น สืบเนื่องมาจากการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกในสมัย รัชกาลที่ 5 ทุกประเทศในฝั่งทะเลแปซิฟิกและทะเลอันดามัน ถูกเป็นเมืองขึ้นกันหมด เหลือแต่ไทยและญี่ปุ่นเท่านั้น และจากการที่สยามโดนยึดดินแดนรอบนอกส่วนต่างๆ (ซึ่งเดิมเป็นของไทย)เช่น เขมร ลาว บางส่วนของพม่า บางส่วนของจีน และส่วนเหนือของมาเลเซีย ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นของสยาม ทำให้เกิดความรู้สึกชาตินิยมขึ้นมา ประกอบกับเผด็จการจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ต้องการนำส่วนที่เคยเสียไปกลับคืนมา จึงทำให้เราโจมตีอินโดจีนของฝรั่งเศส เราจึงร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่น

 

มุมมองของญี่ปุ่นต่อไทยสมัยนั้น ถือว่าเราเป็นเมืองที่ค่อนข้างเจริญ และไม่เคยถูกชาวต่างชาติครอบงำเหมือนประเทศหลายๆประเทศในแถบนี้ จึงต้องการให้ไทยเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ เพราะนโยบายของญี่ปุ่นคือ ต่อต้านและขับไล่ชาวตะวันตก ให้ออกไปจากแผ่นดินเอเชียให้หมด ประเทศต่างๆที่เป็นเมืองขึ้นจึงถูกโจมตี

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *