เหตุการณ์ ร.ศ.112

เหตุการณ์ ร.ศ.112

เหตุการณ์ ร.ศ.112

 

เหตุการณ์ ร.ศ.112 แผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 5 เต็มไปด้วยภัยจากนักล่าอาณานิคม ทิศตะวันออกฝรั่งเศสแผ่อิทธิพล เข้าเวียดนาม ลาว และกัมพูชา ด้านทิศใต้อังกฤษเข้ายึดแหลมมลายู ด้านทิศตะวันตกอังกฤษ เข้ายึดอินเดียและพม่า สยามยืนยงอยู่ได้อย่างไร คำตอบอยู่ในบรรทัดประวัติศาสตร์ และงานรำลึกวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ปีที่ 119

 

วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 สืบเนื่องจากการขยายอำนาจ ของชาติตะวันตกในยุคจักรวรรดินิยมโดยฝรั่งเศสหลังจากได้เวียดนาม และเขมรส่วนนอกหรือเขมรด้านตะวันออกแล้ว ก็พยายามที่ยึดครองลาว ซึ่งในเวลานั้นเป็นประเทศราชของไทย เพื่อหวังใช้แม่น้ำโขงที่ไหลผ่านลาว เป็นเส้นทางไปสู่จีนซึ่งเป็นตลาดการค้าที่สำคัญ

 

วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 คือ เหตุการณ์ที่ร้ายแรง จากการที่ฝรั่งเศสใช้กำลังเรือรบตีฝ่าป้อมและเรือรบ ที่ปากน้ำเจ้าพระยาเมื่อ พ.ศ. 2436 ต่อมาได้ประกาศปิดอ่าวไทย และยื่นข้อเรียกร้องจากไทย ทำให้ไทยยอมเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และเสียค่าปรับถึง 3 ล้านฟรังก์ หรือประมาณ 1,605,000 บาท นับเป็นวิกฤตการณ์ ที่ร้ายแรงมาก ในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่

 

วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 เริ่มมีความรุนแรงตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2436 เมื่อฝรั่งเศสส่งกำลังทหารเข้ายึดเมืองเ ชียงแตง (สตรึงเตร็ง) ทางใต้ของเมืองจำปาศักดิ์ และเมือคำมวน (คำม่วน) ใกล้เมืองนครพนม ซึ่งเป็นของไทย จนมีการสู้รบกัน ระหว่างนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเตรียมการป้องกันประเทศ ทรงเร่งรัดการก่อสร้าง ป้อมพระจุลจอมเกล้าโดยทรงบริจาคเงิน 10,000 ชั่ง (800,000 บาท ) เป็นค่าใช้จ่ายและซื้ออาวุธสำหรับป้อม เพื่อเป็นการรักษาเอกราชของชาติ ดังที่มีพระราชปณิธานว่า “ถ้าความเป็นเอกราชของกรุงสยามได้สิ้นสุดไปเมื่อใด ชีวิตฉัน (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ก็คงจะสุดสิ้นไปเมื่อนั้น”

 

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2436  รัฐบาลฝรั่งเศสได้ส่งเรือรบ 2 ลำ คือ เรือโกแมต (Comete) และเรือแองกองสตังต์ (Inconstant) โดยมีเรือชองแบปตีสเซ (Jean Baptiste Say หรือ J.B. Say) เป็นเรือนำร่อง เพื่อมาสมทบกับเรือ  ลูแตง (Lutin) ซึ่งอยู่ที่กรุงเทพฯ แล้ว รัฐบาลคัดค้านเรื่องนี้เพราะเป็นการละเมิดสนธิสัญญาระหว่างประเทศทั้งสองที่อนุญาตให้มีเรือรบเข้ามาจอดได้เพียงลำเดียว รัฐบาลฝรั่งเศสได้สั่งระงับ แต่ผู้บังคับการเรือรบทั้งสองอ้างว่าได้รับคำสั่งให้นำเรือรบทั้งสองลำให้เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ ในตอนเย็นวันที่ 13 กรกฎาคม เวลา 18 นาฬิกาเศษ เรือฝรั่งเศสทั้ง 3 ลำ ได้เข้ามาใกล้ป้อมพระจุลจอมเกล้า ปืนที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า ซึ่งเป็นปืนใหญ่สมัยใหม่ได้ยิงเตือนแต่เรือรบฝรั่งเศสไม่ยอมหยุดและยิงตอบโต้ ผลการสู้รบเรือนำร่องของฝรั่งเศสถูกยิงเกยตื้น ทหารเสียชีวิต 3 นาย บาดเจ็บ 3 นาย ทหารไทยเสียชีวิต 3 นาย บาดเจ็บ 41 นาย แต่เรือรบฝรั่งเศสทั้ง 2 ลำ สามารถแล่นขึ้นมาจอดที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสได้ ในวันนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีประกาศว่า “อย่าได้ตื่นตกใจว่าจะมีการรบพุ่ง รัฐบาลได้เตรียมการป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของราษฎรแล้ว อีกทั้งมีการเจรจากับฝรั่งเศส ทั้งที่กรุงปารีสและกรุงเทพฯ ด้วย”

 

ทางฝ่ายไทยได้ประท้วงรัฐบาลฝรั่งเศสและเรียกร้องให้ถอนเรือรบออกไป แต่รัฐบาลฝรั่งเศสได้สั่งให้นายออกัสต์ ปาวี (August Pavie) ทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ ยื่นคำขาดต่อไทยว่าไทยต้องสละสิทธิ์ในดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง พร้อมกับรื้อถอนด่านในบริเวณดังกล่าว ลงโทษผู้ที่ต่อสู้กับฝรั่งเศส จ่ายค่าปรับไหมและค่าทำขวัญเป็นเงิน 3 ล้านฟรังก์ และต้องตอบคำขารดภายใน 48 ชั่วโมง

 

รัฐบาลไทยพยายามขอความช่วยเหลือจากอังกฤษ แต่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน จึงตอบคำขาดในวันที่ 22 กรกฎาคม  พ.ศ. 2436 โดยยินยอมและโต้แย้งบางประเด็น เช่น เงินค่าปรับไหม และค่าทำขวัญน่าจะเกินความเป็นจริง ส่วนที่เกิดไทยควรจะได้คืน ฝรั่งเศสไม่พอใจคำตอบของไทย ถือว่าไทยปฏิเสธคำขาด ดังนั้นจึงตัดความสัมพันธ์ทางการทูตในวันที่ 26 กรกฎาคม ฝรั่งเศสได้ถอนเรือรบทั้ง 3 ลำออ และไปยึดเกาะสีชัง ประกาศปิดอ่าวไทยโดยให้เวลา 3 วัน สำหรับเรือต่างๆ ที่จะถอนสมอออกไป ครั้งถึงวันที่ 29 กรกฎาคม ฝรั่งเศสได้ขยายพื้นที่การปิดล้อมเพิ่มขึ้น สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ ดังนั้นไทยจึงแจ้งให้ฝรั่งเศสทราบว่าจะรับคำขาด เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยและชาวต่างประเทศ แต่ฝรั่งเศสยังเรียกร้องเพิ่มเติมว่าจะยึดปากน้ำและจันทบุรีไว้จนกว่าไทยจะถอนกำลังที่อยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงจนหมดสิ้น

 

เมื่อไทยยอมรับข้อเรียกร้องเพิ่มเติม การปิดล้อมปากน้ำจึงยุติลงในต้นเดือนสิงหาคม  ฝรั่งเศสได้ถอนกำลังไปยึดเมืองจันทบุรี โดยประจำอยู่ที่แหลมสิงห์ หลังจากนี้เป็นการเจรจาทางการทูตและมีการลงนามในสนธิสัญญาไทย – ฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2436  ณ ที่ทำการราชวัลลภ ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

 

1.ไทยยกดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง รวมทั้งเกาะในแม่น้ำให้ฝรั่งเศส

2.ไทยจะไม่สร้างด่าน ค่าย ที่อยู่ของทหารในเขต 25 กิโลเมตร บนฝั่งขวาแม่น้ำโขง

3.ฝรั่งเศสจะตั้งกงสุลในที่ใดๆ ก็ได้ เช่น ที่นครราชสีมา  เป็นต้น

 

อนึ่งไทยยังต้องจ่ายเงินประกันค่าปรับไหมและค่าทำขวัญตามคำขาดของฝรั่งเศสเป็นเงิน 3 ล้านฟรังก์ (ค่าปรับไหมและค่าทำขวัญ 2 ล้านฟรังก์) ซึ่งรัฐบาลไทยจ่ายเป็นเงินสดและผ่านธนาคารปลายทาง (ธนาคารเมืองไซ่ง่อน) รวมเป็นเงิน 1,605,235 บาท 2 อัฐ

 

นอกจากนี้ ยังมีสัญญาเพิ่มเติมว่าผู้ที่ต่อสู้กับทหารฝรั่งเศส ซึ่งหมายถึง พระยอดเมืองขวาง (ยำ  ยอดเพ็ชร) จะต้องถูกนำตัวขึ้นศาล และทนายฝรั่งเศสจะอยู่ที่จันทบุรีจนกว่าไทยจะปฏิบัติตามหนังสือสัญญาได้ครบถ้วน แต่ปรากฏว่าเมื่อไทยปฏิบัติตามหนังสือสัญญาได้ครบถ้วน ฝรั่งเศสก็ยังไม่ถอนกำลังออกจากจันทบุรี จน พ.ศ. 2446 จึงถอนตัวออกแต่ไปยึดเมืองตราดแทน โดยไทยต้องเสียดินแดนเพิ่มเติม คือ มโนไพร จำปาศักดิ์ และหลวงพระบาง ฝรั่งเศสยึดเมืองตราดจนถึง พ.ศ. 2449 จึงถอนตัวออกโดยที่ไทยต้องยกเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณให้เป็นการแลกเปลี่ยน

 

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ได้คุมคามอำนาจอธิปไตยของไทยอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ พ.ศ. 2436 จนถึง พ.ศ. 2449 วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

 

1.ทำให้ไทยเสียดินแดนหลายครั้ง รวมทั้งเสียค่าปรับ ค่าทำขวัญแก่ฝรั่งเศส กล่าวกันว่าเงินที่จ่ายเป็นค่าปรับ ค่าทำขวัญแก่ฝรั่งเศสนั้น คือ เงินถุงแดง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานไว้เพื่อไว้ใช้ยามฉุกเฉิน

 

2.ไทยยังคงรักษาเอกราชไว้ได้ และเป็นเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยที่ไทยใช้นโยบายทางการทูตแบบผ่อนหนักเป็นเบา และยอมเสียส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่ไว้

 

3.ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความจำเป็นยิ่งขึ้นที่จะต้องเสด็จประพาสประเทศในทวีปยุโรป เพื่อแสวงหาพันธมิตร ช่วยค้ำประกันเอกราชของไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสทวีปยุโรปครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2440 ซึ่งเป็นผลดีต่อไทยมาก เพราะพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ของรัสเซียได้สนับสนุนการรักษาเอกราชของไทยเป็นอย่างดี นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงศึกษาและทอดพระเนตรความเจริญของประเทศต่างๆ ซึ่งทรงนำมาเป็นแบบอย่างในการพัฒนาประเทศไทย และยกเลิกธรรมเนียมที่ล้าสมัย

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *